การเตรียมตัวก่อนการเดินทาง

ก่อนการเดินทางสิ่งที่ควรพิจารณาและนำติดตัวไปมีดังนี้

1.เงินติดตัวเดินทาง

นักศึกษาควรแลกเงินสดเป็นดอลล่าร์ติดตัวไปเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในช่วงแรกเท่านั้น ในส่วนที่เหลือควรทำเป็น Bank Draft หรือ Traveler's Check ซึ่งมีความปลอดภัยกว่า นักศึกษาสามารถนำ Bank Draft หรือ Traveler's Check ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารในประเทศนั้นๆ ได้ Bank Draft เป็นเอกสารที่ระบุชื่อผู้เดินทางและระบุจำนวนเงินสามารถนำไปฝากเข้าบัญชีกับธนาคารได ้โดยใช้เวลาในการเรียกเก็บประมาณ 2-15 วัน หากเกิดการสูญหายสามารถแจ้งธนาคารผู้ออกเอกสารให้ยกเลิกและออกใบใหม่ให้ได้ ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมในการออกเอกสาร 100-200 บาท และค่าอากร 3 บาท ต่อ 1 ฉบับ ส่วน Traveler's Check เป็นเอกสารซึ่งผู้เดินทางสามารถใช้ได้แทนเงินสดเพียงแต่ต้องเซ็นต์ชื่อในเช็ค 1 ครั้งตอนที่ซื้อ และอีกครั้งเมื่อนำไปชำระเงินพร้อมแสดงหนังสือเดินทาง หากเอกสารประเภทนี้สูญหายสามารถให้ธนาคารในต่างประเทศ ออกทดแทนให้ใหม่ได้ โดยทั่วไปธนาคารคิดค่าธรรมเนียม 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเช็คเดินทางและค่าอากร

2. เสื้อผ้า

นักศึกษาควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของสถานที่ที่เรากำลังเดินทางไปให้ดี รวมถึงช่วงที่เราเดินทางว่าอยู่ในฤดูอะไร ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถเตรียมเสื้อผ้าที่จำเป็นและเหมาะสมได้ แต่ไม่ควรนำติดตัวไปมากเกินไป เนื่องจากเมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงสามารถหาซื้อเสื้อผ้าที่เหมาะสมและเข้ากับคนที่นั่นได้มากกว่า โดยเน้นในเรื่องของความสะดวกสบาย สำหรับในระดับบัณฑิตศึกษาอาจแต่งตัวเป็นทางการมากกว่า นอกจากนี้นักศึกษาไทยอาจพิจารณานำเสื้อผ้าประจำชาติติดตัวเผื่อไปด้วยสำหรับการเข้าร่วมงานทางสังคมบางโอกาส

3. หนังสือ / เอกสารการเรียน

นักศึกษาควรนำพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ติดตัวไปด้วย นอกจากนี้อาจนำเอกสารอ้างอิงภาษาไทยเกี่ยวกับหลักสูตรที่กำลังจะไปศึกษาด้วย ซึ่งจะช่วยได้มากในช่วงแรกของการเข้าศึกษา

4. ยาประจำตัว

นักศึกษาควรนำยาประจำตัวติดตัวไปด้วย เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ปวดหัว แก้ท้องเสีย หรือยาดม ทั้งนี้เนื่องจากในต่างประเทศ การซื้อยาส่วนใหญ่จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้นจึงจะซื้อได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็ควรนำยาที่ใช้ประจำไปด้วย โดยควรจัดไว้เป็นสัดส่วนและบรรจุในภาชนะที่มีเอกสารบอกชนิดและส่วนประกอบของยาเป็นภาษาอังกฤษด้วย

5. อาหาร

การนำอาหารแห้งติดตัวไปด้วยเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้แต่ไม่แนะนำ เนื่องจากตามเมืองใหญ่ ๆ นักศึกษาสามารถหาซื้ออาหารและเครื่องปรุงจากเมืองไทยได้โดยไม่ยากนัก สำหรับอาหารสด นักศึกษาไม่ควรนำติดตัวไปอย่างเด็ดขาด

6. เครื่องไฟฟ้า

เครื่องไฟฟ้าของแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาเครื่องไฟฟ้าจะเป็นระบบ 115 volts 60 cycles ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยซึ่งมีระบบ 220 volts ดังนั้นถ้านักศึกษาต้องการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าติดตัวไปด้วย ก็ต้องหาซื้ออุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าติดตัวไปด้วย (Converter / Adapter)

7. เอกสารการเดินทางด้านการเรียนและเอกสารอื่นๆ ก่อนการเดินทาง

นักศึกษาควรเตรียมเอกสารการเดินทางให้พร้อม รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับการเรียนที่พัก และผู้ที่สามารถติดต่อได้ โดยทำสำเนาเอกสารทุกอย่างให้ผู้ปกครองที่ประเทศไทยเก็บไว้ด้วย เพื่อใช้ในการอ้างอิง นักศึกษาควรวางแผนการเดินทางให้ไปถึงสถานศึกษา 2-7 วัน ก่อนวันเริ่มการศึกษา

การเดินทางไปที่พัก / สถาบันการศึกษา

เมื่อนักศึกษาเดินทางไปถึงประเทศนั้นๆ แล้ว นักศึกษาที่มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษามารับ เจ้าหน้าที่จะพาไปยังที่พักได้โดยตรง แต่สำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้เตรียมการให้คนมารับจะต้องเดินทางไปยังที่พักเอง ถ้านักศึกษาใช้บริการเจ้าหน้าที่ช่วยยกกระเป๋าที่สนามบินจะต้องจ่ายค่าบริการ จากนั้นจึงออกจากบริเวณด้านนอกของสนามบิน เพื่อเดินทางไปยังที่พักทางเลือกในการเดินทางมีดังนี้

  • บริการรถบัสของสนามบิน : สนามบินขนาดใหญ่ส่วนมากจะมีบริการรถบัสของสนามบิน ให้บริการระหว่างสนามบินและตัวเมือง ซึ่งอัตราค่าบริการไม่สูงและมีความสะดวกสบาย
  • แท็กซี่ : ซึ่งมักเรียกกันว่า taxicabs หรือ cabs เป็นบริการที่สะดวกที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายต้องสูงมากเนื่องจากสนามบินมักตั้งอยู่ห่าง จากใจกลางเมือง นักศึกษาที่ใช้บริการแท็กซี่ ต้องระลึกไว้ด้วยว่า ต้องให้ทิปคนขับรถประมาณ 15% ของค่าบริการตามมิเตอร์ และค่าบริการเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยสำหรับการขนกระเป๋า
  • บริการรถโดยสารประจำทาง : รถประจำทางบางสายอาจให้บริการที่สนามบินด้วย นักศึกษาควรสอบถามเจ้าหน้าที่ของสนามบินเมื่อไปถึงที่พัก

เมื่อนักศึกษาไปถึงประเทศที่หมายแล้ว ที่พักเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดปัจจัยหนึ่งในการเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ถ้านักศึกษามีที่พักที่ดีและมีบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาการต่างๆ จะเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามถ้านักศึกษามีความไม่สบายใจเกี่ยวกับที่พัก โอกาสในการเรียนรู้รวมถึงกำลังใจในการต่อสู้ก็จะลดน้อยลงตามลำดับ สำหรับนักศึกษาที่มีญาติหรือคนรู้จักอยู่ในต่างประเทศ อาจเลือกเข้าศึกษาต่อในบริเวณใกล้เคียงกับที่พักของญาติ หรือถือโอกาส พักร่วมกับเขา แต่สำหรับนักศึกษาที่ไม่รู้จักใครเลย ส่วนใหญ่จะใช้บริการของสถาบันการศึกษาในการจัดหาที่พักให้ โดยทั่วไปสถาบันการศึกษาสามารถจัดหาที่พักพร้อมให้บริการไปรับที่สนามบินและพานักศึกษาเข้ามายังที่พักด้วย ที่พักสำหรับนักศึกษาต่างชาติ สามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบหลักๆ คือ

1.หอพัก เป็นรูปแบบที่พักของนักศึกษาต่างชาติ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาที่เพิ่งไปถึง อย่างไรก็ดีนักศึกษาต้องตระหนักไว้ด้วยว่าไม่ใช่ว่าทุกสถาบันการศึกษาจะมีหอพักไว้เพื่อบริการนักศึกษา โดยทั่วไปวิทยาลัยชุมชนหรือ Community College จะไม่มีหอพักให้กับนักศึกษารวมถึงวิทยาลัยที่อยู่ในเขตใจกลางเมืองหลายแห่งก็ไม่มีหอพักสำหรับนักศึกษา รูปแบบของหอพักส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการทั้งในส่วนที่พักและอาหารราคาที่เราเห็นๆ กัน ก็จะเป็นอัตราค่าใช้จ่ายของอาหาร และค่าที่พักแบบพักร่วมกับนักศึกษาอื่น ๆ 2-3 คน ต่อห้อง แต่ละห้องจะมีเพียงเครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาแต่ละคน คือโต๊ะเขียนหนังสือ ตู้ใส่เสื้อผ้า และเตียง ซึ่งอาจเป็นเตียงเดี่ยวหรือเตียง 2 ชั้น ห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการซัก เสื้อผ้าจะใช้รวม โดยอาจมีชั้นละแห่งและนักศึกษาในชั้นนั้น ๆ ใช้ร่วมกัน

  • ข้อดีของการพักที่หอพัก : ของสถาบันการศึกษาคือจะมีโอกาสอย่างเต็มที่ในการได้พบปะติดต่อกับนักศึกษาของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้หอพักส่วนใหญ่จะมีบริการด้านอาหารให้นักศึกษาประมาณ 19 มื้อต่อสัปดาห์ ที่โรงอาหารของสถาบัน ซึ่งมักมีอาหารให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย นอกจากนี้นักศึกษายังสามารถใช้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า ร่วมกับนักศึกษาอื่นๆ ได้ โดยทั่วมักมีสถานที่ออกกำลังกายและสระว่ายน้ำในบริเวณวิทยาเขตและสามารถเดินไปเข้าชั้นเรียนได้อย่างสะดวก
  • ข้อเสียของการพักที่หอพัก : นักศึกษาจะไม่มีโอกาสในการเรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิตครอบครัวของคนประเทศนั้น การดูแลเอาใจใส่ที่ได้รับจะน้อยกว่านอกจากนี้ห้องพักในหอพักส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก เป็นห้องพักรวมและมีอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ จำกัดการพักห้องพักเดี่ยวจะต้องจ่ายมากขึ้นและอาจมีห้องเดี่ยวจำกัด นอกจากนี้หอพักส่วนใหญ่จะปิดให้บริการในช่วงปิดภาคการศึกษาและไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำอาหาร
  • ข้อคิดของนักศึกษาที่ต้องการพักหอพัก : นักศึกษาต้องเตรียมปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นด้วย เพราะเป็นการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก เรื่องของอาหารก็ต้องเป็นเวลามากขึ้นเพราะบริการที่โรงอาหารอาจกำหนดไว้เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้เพื่อนร่วมห้องก็เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญ โดยทั่วไปสถาบันมักจัดให้นักศึกษาต่างชาติพักร่วมกับนักศึกษาของประเทศนั้นๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าต่างคนต่างมีความคิดเห็น และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น นักศึกษาต้องเคารพในสิทธิของผู้อื่น และเพื่อนร่วมห้องของเราก็ต้องเคารพในสิทธิอันชอบควรของเราด้วย ในกรณีที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดก็ตาม นักศึกษาต้องบอกเจ้าหน้าที่สำนักงานของนักศึกษาต่างชาติหรือ ผู้ดูแลหอพักทันที

2. การพักร่วมกับครอบครัว หรือ Homestay เป็นการพักร่วมกับครอบครัวของคนประเทศนั้นๆ ที่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติได้ โดยทั่วไปมักเป็นห้องเดี่ยวส่วนตัวพร้อมอาหารเช้าและอาหารเย็น วันจันทร์ถึงศุกร์ และอาหาร 3 มื้อ สำหรับวันเสาร์และวันอาทิตย์ สถาบันมักเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและควบคุมดูแลครอบครัวที่ต้องการรับนักศึกษาต่างชาติ

  • ข้อดีของการพักร่วมกับครอบครัว : ของชาวต่างชาติในประเทศที่นักศึกษาไปเรียนนั้น คือ นักศึกษาสามารถพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายส่วนมากจะถูกกว่า ครอบครัวที่สถาบันจัดหาให้หลายแห่งสามารถไปรับ-ส่งที่สถาบันได้ สามารถใช้บริการได้ตลอดปี และนักศึกษาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนประเทศนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่
  • ข้อเสียของการพักร่วมกับครอบครัวหรือ Homestay : ต้องใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ นักศึกษามีอิสรภาพน้อยกว่าพักหอพัก เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฏของแต่ละครอบครัวและมีทางเลือกด้านอาหารน้อยกว่า นอกจากนี้การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการของทางวิทยาเขตอาจมีจำกัดเนื่องจากนักศึกษาต้องรีบเดินทางกลับบ้านเมื่อเลิกเรียน
  • ข้อคิดสำหรับนักศึกษาที่ต้องการพักกับครอบครัว : เราต้องเตรียมตัวและเตรียมใจในการเข้าพักร่วมในบ้านของผู้อื่นซึ่งมีพื้นฐานด้านการศึกษา วัฒนธรรมและแนวความคิดที่แตกต่างจากเรา การปรับตัวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเลือกที่พักประเภทนี้ ทั้งในเรื่องของอาหารการกินและวิถีการดำรงชีวิต นักศึกษาจะไปคาดหวังว่าครอบครัวนั้นๆ จะดูแลให้ความอบอุ่นกับเราเหมือนที่บ้านไม่ได้

3. อพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่า เป็นการพักเดี่ยวหรือพักร่วมกับคนอื่น ถ้าเป็นอพาร์ทเม้นท์ที่สถาบันจัดให้ ส่วนใหญ่จะเป็นการพักร่วมกับนักศึกษาอื่นๆ อย่างไรก็ดี นักศึกษามักเป็นผู้จัดหาอพาร์ทเม้นท์เองภายหลังจากไปถึงประเทศนั้นๆ แล้ว รูปแบบของการพักมักเป็นการพักร่วมกับผู้อื่นในห้อง 2-3 คน และใช้ห้องน้ำ บริเวณพักผ่อน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการทำอาหารร่วมกันกับห้องอื่นๆ ด้วย

  • ข้อดีของการพักอพาร์ทเม้นท์ / ห้องเช่า : นักศึกษามีโอกาสในการทำอาหารเอง มีอิสรภาพมากกว่าและถ้าเป็นการพักร่วมกับนักศึกษาหลายคน อัตราค่าใช้จ่ายมักจะถูกกว่า
  • ข้อเสียของการพักอพาร์ทเม้นท์ / ห้องเช่า : นักศึกษาอาจต้องเผื่อเวลาในการเดินทางไป-กลับจากสถาบัน นอกจากนี้นักศึกษาอาจต้องเซ็นต์สัญญาการเช่าระยะยาว 6-12 เดือน มีการวางมัดจำล่วงหน้า 2-3 เดือน ทั้งยังต้องรับผิดชอบในเรื่องของอาหารการกินเอง

4. โรงแรม โดยทั่วไปโรงแรมเป็นรูปแบบของที่พักที่มีอัตราค่าใช้จ่ายสูงที่สุด แต่สำหรับบางกรณี นักศึกษาอาจจำเป็นต้องใช้บริการของโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาที่เดินทางไปถึงสถาบันก่อนกำหนดวันเปิดเรียน อย่างไรก็ดีสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมักมีข้อตกลงเป็นพิเศษกับโรงแรมในบริเวณใกล้เคียงและสามารถต่อรองขอค่าเช่าพักในอัตราพิเศษสำหรับนักศึกษาได้

 



Education Abroad Co., Ltd.
KU Mini Shop (บริเวณโรงอาหารกลาง 1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ (081) 836-4042 (02) 940-6961 แฟกซ์ (02) 940-6961 E-mail : info@e-abroad.com