ระบบการศึกษาทั่วไป
โรงเรียนในนิวซีแลนด์มีทั้งในโรงเรียนของรัฐบาล กึ่งรัฐบาล และเอกชน หลักสูตรจะมีมาตรฐานคล้ายคลึงกัน โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่จะรับนักเรียนต่างชาติเข้าเรียนใน Form 3 หรือ Year 9 บางโรงเรียนรับตั้งแต่ Form 1 หรือ Year 7
Form 5-6 ถือว่าเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีวิชาเลือก มากขึ้น และวิชาบังคับน้อยลง เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
Form 7 สำหรับนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนต่อ ในระดับมหาวิทยาลัย ในนิวซีแลนด์ เมื่อจบ Form 7 จะมีการสอบ BURSARY เพื่อคัดเลือก นักเรียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย นักเรียนใน Form 5-7 ควรเลือกวิชา ที่จะเป็นพื้นฐานของการเรียนในระดับปริญญาตรีที่ตนสนใจ เช่น สนใจเรียนปริญญาตรีด้านธุรกิจควรเลือกเรียนวิชาเลข สถิติ การบัญชี เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ส่วนนักเรียนที่สนใจจะเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ควรเลือกเรียน เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา เป็นต้น
การศึกษาระดับประถมศึกษา (PRIMARY EDUCATION)
เป็นการศึกษาภาคบังคับ เริ่มรับนักเรียนอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป การศึกษาระดับประถมศึกษา แบ่งเป็น 6 ขั้นคือ
- STANDARD 1
- STANDARD 2
- STANDARD 3
- STANDARD 4
- FORM 1 (STANDARD 5)
- FORM 2 (STANDARD 6)
ปกตินักเรียนจะศึกษาจนสำเร็จ FORM 2 เมื่ออายุประมาณ 12 ปี โดยใช้เวลาศึกษาทั้งสิ้น 8 ปี
หลักสูตรการศึกษาระดับประถมศึกษา ได้แก่ วิชาภาษาอังกฤษ (เขียน อ่าน พูด ตัวสะกด และคัดลายมือ) คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะและการฝีมือ วิทยาศาสตร์ พลศึกษา สุขศึกษา และดนตรี ในชั้น FORM 1 และ 2 จะมีสอนวิชาคหกรรมศาสตร์และช่างฝีมือ และอาจมีสอนภาษาฝรั่งเศสด้วย
การศึกษาระดับมัธยมศึกษา (SECONDARY EDUCATION)
เริ่มตั้งแต่ FORM 3 หรือ YEAR 9 นักเรียนอายุประมาณ 13 ปี โรงเรียนมัธยมมี 400 กว่าแห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
- โรงเรียนรัฐบาล
- โรงเรียนกึ่งรัฐบาล ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล และศาสนา
- โรงเรียนเอกชน มักเป็นโรงเรียนของศาสนา
โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนมีจำนวนน้อย และมักจะรักษาประเพณีทางศาสนาและปรัชญาเฉพาะของตนไว้ โรงเรียนเอกชนมีเสรีภาพในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชนต่างมีหลักสูตร และมาตรฐานศึกษา ตลอดจนการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครคล้ายคลึงกัน และมีจุดประสงค์เดียวกันคือเตรียมให้นักเรียนมีคุณสมบัติที่เหมาะสม สามารถสอบได้คุณวุฒิระดับมัธยมศึกษาที่รัฐกำหนด
โรงเรียนมัธยมมีทั้งประจำและไป กลับ นักเรียนสวมเครื่องแบบจนถึง FORM 6 หรือ YEAR 12 สำหรับ FORM 7 หรือ YEAR 13 ไม่มีเครื่องแบบ
การเรียนและการสอบ
FORM 3 และ 4 นักเรียนเรียนวิชาตามหลักสูตรบังคับ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และพลศึกษา และเลือกวิชาเลือกดังต่อไปนี้ ศิลปะ ดนตรี ภาษาเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์
FORM 5 นักเรียนจะเริ่มเลือกเรียนวิชาเฉพาะตามความถนัดของตน โดยยังคงต้องเรียนวิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ส่วนวิชาเลือกมี ศิลปะ พาณิชยศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา เมื่อจบ FORM 5 นักเรียนจะต้องสอบข้อสอบกลาง ที่เรียกว่า SCHOOL DERTIFICATE จัดสอบโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักเรียนอาจสอบได้ถึง 6 วิชา ซึ่งบางวิชาทางโรงเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเอง นักเรียนที่สอบ SCHOOL CERTIFICATE ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะเข้าไปเรียนต่อ FORM 6
FORM 6 นักเรียนต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ และเลือกวิชาอื่นๆ อีก 4 หรือ 5 วิชา เป็นวิชาที่มุ่งว่าจะไปเรียนสาขาใดในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เมื่อจบ FORM 6 นักเรียนจะได้รับ SIXTH FORM CERTIFICATE นักเรียนที่ผลการเรียนดีและต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ก็จะเข้าเรียนต่อ FORM 7
FORM 7 เป็นเสมือนชั้นเตรียมมหาวิทยาลัย ในชั้นนี้จะไม่มีวิชาบังคับ นักเรียนเลือกวิชา 4 6 วิชา ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะเรียนในระดับอุดมศึกษา เมื่อจบ FORM 7 นักเรียนจะได้รับ HIGHER SCHOOL CERTIFICATE
สิ่งสำคัญของนักเรียน FORM 7 ก็คือการสอบ BURSARY AND SCHOLARSHIP EXAMINATIONS เพื่อใช้ผลการสอบในการสมัครเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยและการรับทุน
ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 เทอม
เทอมที่ 1 ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนเมษายน
เทอมที่ 2 ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม
เทอมที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนหรือปลายเดือนกันยายน
เทอมที่ 4 ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นหรือกลางเดือนธันวาคม
โรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งเปิดสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนต่างชาติ (ESL) เพื่อเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมก่อนเข้าชั้นเรียนปกติด้วย
การสมัครเข้าโรงเรียนมัธยม
โรงเรียนมัธยมแต่ละแห่งจะรับนักเรียนต่างชาติได้จำนวนไม่เท่ากัน โดยปกติรับแห่งละ 10 20 คนต่อปี บางแห่งอาจรับนักเรียนชาติหนึ่งๆ เพียง 4 5 คนต่อปีเท่านั้น
นักเรียนต่างชาติอาจไปเข้าเรียนได้ตั้งแต่ FORM 1 แต่มีโรงเรียนน้อยแห่งที่รับและส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชน นักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่จะไปเข้าเรียนต่อใน FORM 3 หรือ YEAR 9
นักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่ประเทศนิวซีแลนด์ มักเป็นนักเรียนที่จบชั้นมัธยม 3 แล้ว โดยนักเรียนสามารถสมัคเรียนต่อจากชั้นสูงสุดที่จบจากประเทศไทยได้เลย อย่างไรก็ตามในการพิจารณาว่าจะให้นักเรียนเข้าเรียนในชั้นใดนั้น โรงเรียนจะดูอายุของนักเรียนประกอบด้วย โดยถือหลักว่าเด็กอายุใกล้เคียงกัน ควรเรียนชั้นเดียวกัน
ระยะเวลาการสมัคร
สมัครได้ตลอดเวลา เนื่องจากโรงเรียนมักจะรับนักเรียนให้ไปเรียนภาษาอังกฤษก่อน และโรงเรียนสามารถแจ้งผลการพิจารณารับนักเรียนหรือไม่ในเวลาอันรวดเร็ว โดยปกตินักเรียนไทยจะใช้เวลาเรียนประมาณ 6 เดือน
เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร ใบรับรองผลการศึกษา หรือใบรายงานผลการศึกษาระดับสูงสุด ของนักเรียน
ข้อสังเกต การศึกษาระดับมัธยมศึกษาในประเทศนิวซีแลนด์นั้น โรงเรียนมีกฎ ระเบียบเคร่งครัดมาก หากนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือข้อบังคับของโรงเรียนได้ เช่น สูบบุหรี่ในโรงเรียน ขาดเรียนโดยไม่มีเหตุผล โรงเรียนก็จะไม่รับนักเรียนผู้นั้นให้อยู่ศึกษาต่อ และในบางกรณีจะส่งตัวนักเรียกลับประเทศไทยทันที
การศึกษาระดับ POLYTECHNICS
ประเทศนิวซีแลนด์มีสถาบัน POLYTECHNICS 25 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทุกแห่งจัดตั้งและได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาล บางแห่งอาจเรียกว่า INSTITUTE OF TECHNOLOGY หรือ COMMUNITY POLYTECHNIC
POLYTECHNIC มีสาขาวิชาให้เลือกกว่า 150 สาขา ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพ เปิดสอน ทั้งหลักสูตรระยะสั้น ประกาศนียบัตร และหลายแห่งเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีในบางสาขา เช่น สถาปัตยกรรม บัญชี การออกแบบ เทคโนโลยี ธุรกิจ พาณิชย์ และสื่อสารมวลชน
บางแห่งเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในสาขาธุรกิจ วิทยาศาสตร์ พยาบาล และอื่นๆ ซึ่งหมายถึงนักเรียนอาจเรียนชั้นปีที่ 1 หรือในบางกรณีปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยที่ POLYTECHNIC ได้
ระยะเวลาในการศึกษา 1 - 4 ปี แล้วแต่หลักสูตร
ปีการศึกษา
เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ และสิ้นสุดเดือนธันวาคม โดยมีวันหยุดแตกต่างกัน ตามแต่หลักสูตร ช่วงปิดเทอมใหญ่คือเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ เปิดรับนักเรียนใหม่ในช่วงต้นปีการศึกษา คือเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางหลักสูตรจะรับนักเรียนใหม่ในช่วงกลางปีคือเดือนกรกฎาคมด้วย
การสมัครเข้า POLYTECHNICS
นักเรียนที่จบ FORM 6 ของนิวซีแลนด์สามารถเข้าเรียนต่อ POLYTECHNICS ได้ หรือหากจบ FORM 7 แล้วเข้าเรียนก็สามารถโอนหน่วยกิตได้
นักเรียนไทยที่จบมัธยมปีที่ 6 และอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้า POLYTECHNICS โดยต้องสอบ TOEFL หรือ IELTS ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 500 หรือ 6.0
นักเรียนอาจเข้าเรียนหลักสูตร DIPLOMA ที่ POLYTECHNICS ซึ่งใช้เวลาเรียน 2 ปี เมื่อจบแล้วอาจเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งหากนักเรียนเรียนดีก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี
สำหรับหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ ก็จะกำหนดคุณสมบัตินักเรียนที่จะสมัครเข้าเรียนแตกต่างกันไป
ข้อดีของการเรียน POLYTECHNICS คือ
- เป็นการเรียนไปทีละขั้น เมื่อจบ POLYTECHNICS แล้วหากยังไม่สามารถเรียนปริญญาตรีได้ ก็จะได้ DIPLOMA ซึ่งอาจจะไปทำงานก่อน แล้วกลับมาเรียนต่อภายหลังก็ได้
- POLYTECHNICS เข้าไม่ยากเท่ามหาวิทยาลัย และมีหลักสูตรหลากหลายให้เลือก
- POLYTECHNICS มีลักษณะเหมือนมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ในแต่ละห้องเรียนมีนักศึกษาประมาณ 20 25 คน ในขณะที่แต่ละห้องเรียนของมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาเป็นร้อยคน ดังนั้นนักศึกษา POLYTECHNICS จึงใกล้ชิดกับอาจารย์มากกว่า
- POLYTECHNICS มีอุปกรณ์ช่วยการศึกษาที่ทันสมัยพร้อม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาต่างชาติมาก เช่น มีศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ศูนย์กีฬาบางแห่งมีศูนย์ติวเตอร์ โดยสถานศึกษาจ้างนักศึกษานิวซีแลนด์เป็นติวเตอร์ให้นักศึกษาต่างชาติ ซึ่งนักศึกษาต่างชาติไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
นอกจากนั้น POLYTECHNICS เกือบทุกแห่งมีสถาบันสอนภาษาของตัวเอง ซึ่งนักเรียนจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ดี นักเรียนสามารถใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ของสถาบัน POLYTECHNICS นั้นๆ ได้ด้วย
POLYTECHNICS ทุกแห่งมีมาตรฐานดี มีข้อสังเกตว่า POLYTECHNICS ที่ใหญ่มักจะ ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่มีข้อดีในแง่ที่มีสาขาวิชาให้เลือกมากในขณะเดียวกันการเอาใจใส่นักศึกษาอาจน้อยลง และมักจะมีนักเรียนไทยเรียนอยู่มาก
การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์ มีทั้งหมด 7 แห่ง ทุกแห่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล ตั้งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เปิดสอนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตร ปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง จะเปิดสอนในคณะที่เกี่ยวข้องกับศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และแต่ละมหาวิทยาลัยมีวิชาเฉพาะที่มีชื่อเสียงของตนเอง ได้แก่
UNIVERSITY OF AUCKLAND อยู่ที่เมือง AUCKLAND เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุด เด่นทางด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และมีการสอนวิชาการแว่น (OPTOMETRY) และวิจิตรศิลป์ด้วย
UNIVERSITY OF OTAGE อยู่ที่เมือง DUNEDIN เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของ นิวซีแลนด์ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1869เด่นในวิชาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ กายภาพบำบัด ตลอดจนวิชาพลศึกษา นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทววิทยา
UNIVERSITY OF WAIKATO อยู่ที่เมือง HAMILTON เด่นทางวิชาการจัดการ วิทยาศาสตร์ และนิติศาสตร์
MASSEY UNIVERSITY อยู่ใกล้เมือง AUCKLAND และ PALMERSTON NORTH เด่นทางเทคโนโลยี เทคโนโลยีการอาหาร และสัตวแพทยศาสตร์
VICTORIA UNIVERSITY OF WELLINGTON อยู่ที่เมือง WELLINGTON เป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเก่าแก่มาก ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1899 เด่นทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และนิติศาสตร์
UNIVERSITY OF CANTERBURY อยู่ที่เมือง CHRISTCHURCH เด่นทางด้านนิติศาสตร์ วนศาสตร์ และวิจิตรศิลป์
LINCOLN UNIVERSITY อยู่ใกล้เมือง CHRISTCHURCH เป็นมหาวิทยาลัย ที่ใหม่ที่สุด แยกมาจาก UNIVERSITY OF CANTERBURY เด่นทางด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารสิ่งแวดล้อม เกษตรศาสตร์ เกษตรกรรมพืชสวน
ระบบการเรียน
คล้ายคลึงกับระบบของอังกฤษมากกว่าระบบของสหรัฐอเมริกา ในแต่ละหลักสูตรมักจะไม่แบ่งเป็นวิชาต่างๆ หลากหลายวิชา แต่เนื้อหาวิชาจะเน้นลงลึกมาก
หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะกำหนดจำนวนวิชาที่ต้องเรียน ตลอดจนการทำรายงานไว้ โดยในแต่ละวิชามักจะประกอบด้วยหลักสูตร 3 ระดับ คือหลักสูตรปีที่ 1 (stage 1 หรือ level 100) จบ stage นี้แล้ว จึงเรียนหลักสูตรปีที่ 2 (stage 2 หรือ level 200) เมื่อจบแล้วจึงเรียนของปีที่ 3 (stage 3 หรือ level 300) ได้
ระยะเวลาในการเรียน
- ปริญญาตรี หลักสูตร 3 ปี ยกเว้นบางสาขาวิชา อาจใช้เวลาถึง 6 ปี
- POSTGRADUATE DIPLOMA ใช้เวลา 1 ปี ต่อจากปริญญาตรี เมื่อจบแล้วอาจต่อ ปริญญาโท โดยใช้เวลาอีก 1 ปี
- ปริญญาโท หลักสูตร 1 2 ปี (ส่วนใหญ่ 2 ปี) การเรียนระดับนี้ตามระบบเดิมจะเป็นการทำวิจัย หรือทำวิทยานิพนธ์ แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบการทำงาน หรือทำรายงานและวิจัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปริญญาเอก โดยปกติจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ในการเรียนและทำวิจัย การจะได้รับปริญญาเอก นักศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์ และสอบปากเปล่า
ปีการศึกษา
ปีการศึกษาเริ่มปลายเดือนกุมภาพันธ์ สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน ส่วนการแบ่งเทอมการศึกษามี 2 ระบบคือ
ระบบ 3 ภาคการศึกษา มีนาคมพฤษภาคม, มิถุนายนสิงหาคม, กันยายนพฤศจิกายน
ระบบ 2 ภาคการศึกษา มีนาคม มิถุนายน, กรกฎาคม พฤศจิกายน
สำหรับหลักสูตรวิจัยระดับปริญญาโท และหลักสูตรปริญญาเอก อาจเริ่มเรียนเมื่อไรก็ได้
ระยะเวลาปิดภาคการศึกษา
ช่วงปิดภาคฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ และมีช่วงวันหยุดประมาณ 2 3 สัปดาห์ระหว่างเทอม บางมหาวิทยาลัยเปิดสอนภาคฤดูร้อนระหว่างเดือนธันวาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ด้วย
นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาโท และปริญญาเอกค้นคว้าทำวิจัยได้ตลอดปี
การให้คะแนน
ให้คะแนนเป็น A B C D เหมือนระบบของไทย
การทำวิทยานิพนธ์
ปัจจุบันมีการให้เลือก ไม่บังคับเฉพาะทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น
การสมัครเข้าศึกษามหาวิทยาลัย
ระดับปริญญาตรี นักเรียนไทยที่จบ ม. 6 ซึ่งเท่ากับ FORM 6 หรือ YEAR 12 ของนิวซีแลนด์ ทำได้ 3 วิธีคือ
1. เข้าเรียน FORM 7 (YEAR 13) ที่นิวซีแลดน์ ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนมักใช้เวลามากกว่า 1 ปี จึงจะจบ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2 ปี เนื่องจากอย่างน้อยนักเรียนต้องเรียนภาษาอังกฤษก่อน
2. เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทยก่อน โดยต้องเรียนในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับ และต้องเรียนจบปี 1 เป็นอย่างน้อย แล้วจึงสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์
3. เข้าเรียนหลักสูตร FOUNDATION ก่อน เป็นหลักสูตร 1 ปี ก่อนสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หลักสูตรนี้เปิดสอนที่ UNIVERSITY OF WAIKATO, UNIVERSITY OF OTAGO และในปี 2541 ได้เปิดที่ LINCOLN UNIVERSITY ด้วย หากนักเรียนเรียนได้ดีก็จะเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดิมได้ สำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็รับพิจารณานักเรียนที่จบหลักสูตรนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม บางมหาวิทยาลัยรับพิจารณานักเรียนที่จบ ม. 6 แต่นักเรียนต้องได้คะแนนดีมาก และวิชาที่เรียนมาต้องสอดคล้องกับหลักสูตรที่สมัครเข้าเรียน
การสมัครเข้าปริญญาตรี นักเรียนต้องมีคะแนนเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป และสอบ TOEFL ได้คะแนนอย่างต่ำ 550 และมักต้องการผล TWE 4.0 ขึ้นไป หรือ IELTS อย่างต่ำ 6.5
มหาวิทยาลัยมักรับนักเรียนไทยให้เข้าเรียนระดับ POSTGRADUATE ก่อน ใช้เวลาเรียน 1 ปี แล้วจะพิจารณาผลการเรียนของระดับ POSTGRADUATE ดังกล่าว แล้วจังให้เรียนระดับปริญญาโทอีก 1 ปี
วิชาบริหารธุรกิจระดับปริญญาโท (MBA)
ผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน 3 5 ปี เป็นอย่างน้อย ภาษาอังกฤษต้องดีมาก และบางมหาวิทยาลัยต้องการผลการสอบ GMAT ด้วย ลักษณะการเรียนการสอนจะเป็นการสัมมนาตลอด ใช้เวลาเรียนประมาณ 12 18 เดือน
สำหรับนักเรียนที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน อาจสมัครเข้าเรียนหลักสูตร MBS หรือ MMS : MASTER OF BUSINESS STUDIES ที่ MASSEY UNIVERSITY หรือ MASTER OF MANAGEMENT STUDIES ที่ UNIVERSITY OF WAIKATO หรือหลักสูตร MASTER OF COMMERCE ซึ่งเปิดสอนทุกมหาวิทยาลัย โดยต้องมีผล TOEFL 600 หรือ IELTS 6.5 ขึ้นไป
ระยะเวลาการสมัคร
มหาวิทยาลัยเปิดรับนักเรียนใหม่ปีละ 2 ครั้ง คือ กุมภาพันธ์ และกรกฎาคม แต่ส่วนใหญ่จะรับเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเทอมแรก มีบางมหาวิทยาลัยที่รับกลางปี คือ กรกฎาคมได้ และรับเฉพาะบางสาขาวิชาเท่านั้น ควรสมัครล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เป็นอย่างน้อย
ระดับปริญญาตรี ต้องสมัครก่อนเดือนธันวาคม หรือประมาณเดือนพฤษภาคม สำหรับเทอม 2
ระดับสูงกว่าปริญญาตรี ต้องสมัครภายในเดือนพฤศจิกายน และสำหรับระดับนี้ มักจะไม่ค่อยรับนักเรียนในเทอมที่ 2 เพราะวิชาที่เปิดสอนไม่ครบทุกวิชา
สถาบันการศึกษาของเอกชน
สถาบันระดับอุดมศึกษา เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ DIPOMA ปริญญาตรี และสูงกว่า ปริญญาตรี หลายสถาบันเปิดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเร่งรัดด้วย
สถาบันสอนภาษาอังกฤษ เปิดสอนหลักสูตรตั้งแต่ระดับต้น จนถึงหลักสูตรเร่งรัดชั้นเรียนของสถาบันประเภทนี้มักมีขนาดเล็กเพื่อนักเรียนสามารถมีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์เต็มที่
วิทยาลัยครู
สถาบันประเภทนี้มีทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยครู และมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน คณะศึกษาศาสตร์ 2 แห่ง ได้แก่ MASSEY UNIVERSITY, COLLEGE OF EDUCATION และ THE SCHOOL OF EDUCATION, UNIVERSITY OF WAIKATO ทั้งหมดได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่มีอิสระในการจัดการเรียนการสอนได้เอง แบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรครูสอนเด็กอนุบาล ครูสอนเด็กประถม และครูสอนเด็กมัธยม นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรทางด้านสังคมสงเคราะห์การศึกษาพิเศษเป็นต้น
หลักสูตรการเรียน 3 ปี ได้รับ DIPLOMA OF EDUCATION
หลักสูตรการเรียน 4 ปี ได้รับ ค.บ. (B.ED.)
|