ระบบการศึกษาทั่วไป
ระบบการศึกษาของอเมริกาแต่ละรัฐ จะมีรูปแบบการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนและวางแผนการศึกษาของตนเองไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง ทุกรัฐจะมีหน่วยงานการศึกษาคล้ายกระทรวงศึกษาธิการ คอยกำหนดมาตรฐานต่างๆ ในแต่ละรัฐการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนอเมริกันทุกคนจะเรียนฟรีไม่ว่าจะอยู่ในรัฐใดจบจบชั้นมัธยนศึกษา หรือ Grade 12
สำหรับนักเรียนจากประเทศไทยที่ต้องการเรียนในระดับประถม และมัธยมศึกษาที่อเมริกา จะสมัครเข้าเรียนได้ในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น เพราะสหรัฐอเมริกาจะไม่ออกวีซ่าให้นักเรียนไทยที่ได้ I-20 จากโรงเรียนระดับประถม และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนของรัฐที่เรียกว่า Public School ส่วนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีข้อแตกต่างคือ ถ้านักเรียนที่มีถิ่นฐานในรัฐหนึ่ง จะข้ามมาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอีกรัฐหนึ่ง จะต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงขึ้น ซึ่งเรียกว่า Out of States Tuition และถ้านักศึกษามาจากประเทศอื่นจะต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงขึ้นไปอีก
โรงเรียนอนุบาล (Kindergarten)
ชีวิตการเรียนของเด็กอเมริกัน เริ่มต้นด้วยโรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือโรงเรียนอนุบาล ตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ
โรงเรียนประถมศึกษา (Elementary Schools)
เด็กอเมริกันจะเริ่มเรียนอย่างจริงจังเมื่ออายุ 6 ขวบ คือเข้าเรียนในชั้น Grade 1 เทียบเท่ากับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในบ้านเรา ระบบการศึกษาของประเทศอเมริกาจะจัดแบ่งออกเป็น Grade 1 ถึง Grade 12 ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะจัดแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือช่วงที่ 1 คือ Grade 1 ถึง Grade 6 หรือระดับประถมศึกษา (Elementary School)
โรงเรียนมัธยมศึกษา (Junior High School / High School)
ช่วงที่ 2 คือ Grade 7 และ Grade 8 หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Junior High School) และช่วงที่ 3 คือ Grade 9 ถึง Grade 12 เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Senior High School) โดยทั่วไปสำหรับเด็กที่เริ่มเข้าเรียนตามปกติและเรียนต่อเนื่องไปโดยไม่ขาดตอน จะสำเร็จการศึกษา Grade 12 เมื่ออายุประมาณ 18 ปี ซึ่งนับว่าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนในระดับนี้ต้องเรียนวิชาพื้นฐานคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและอาจต้องเรียนภาษาต่างชาติหรือพลศึกษาด้วย นักศึกษาต่างชาติที่เข้าไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาในประเทศอเมริกามีจำนวนไม่มากนักและส่วนใหญ่จะเข้าเรียนกับโรงเรียนประจำของเอกชน หรือ Boarding School เนื่องจากโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดหาหอพักให้ได้ โดยทั่วไปนักเรียนไทยส่วนใหญ่ที่ไปเรียนต่อในระดับนี้มักสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วและไปเข้าเรียนต่อ Grade 10 ในประเทศอเมริกา
ระดับอุดมศึกษา (Higher Education)
สถาบันระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกามีมากมายกว่า 3,000 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันในระดับอุดมศึกษา จะแยกออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
1. วิทยาลัยแบบ 2 ปี หรือวิทยาลัยชุมชน (Junior Colleges และ Community Colleges) นักเรียนที่เรียนในวิทยาลัย Junior และ Community Colleges สามารถเลือกเรียนได้ใน 2 หลักสูตรคือ
1.1 Transfer Track เป็นหลักสูตรที่เป็นวิชาพื้นฐาน 2 ปีแรกของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยนักศึกษาจะลงเรียนวิชาบังคับ (General Education Requirements) เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นนักศึกษาสามารถโอนหน่วยกิต (Transfer) ไปมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อศึกษาต่อในระดับปี 3 โดยที่เกรดเฉลี่ยที่นักศึกษาทำได้ในระหว่าง 2 ปีนี้จะเป็นตัวกำหนดว่านักศึกษาจะได้รับการตอบรับเข้ามหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับยากง่ายเพียงใด
1.2 Terminal / Vocation Track เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสายวิชาชีพ หลังจาก 2 ปี แล้วนักศึกษาจะได้รับวุฒิอนุปริญญา (Associate Degree) ทางสาขาวิชาที่เลือก อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ เลขานุการ เขียนแบบ เป็นต้น
2. วิทยาลัย (Colleges) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาหลักสูตร 4 ปี เปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ วิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนถึงระดับปริญญาโท วุฒิบัตรระดับปริญญาตรีและโทจาก College ทั้งของรัฐและเอกชนในสหรัฐฯ มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่า University ทุกประการ
3. มหาวิทยาลัย (University) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอกในสาขาต่างๆ
4. สถาบันเทคโนโลยี (Institution of Technology) เป็นสถาบันที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และอาจเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอก สถาบันเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การสอนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เงื่อนไขการรับเข้าศึกษา
- มัธยมศึกษา นักเรียนจากประเทศไทยสามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนของเอกชนเท่านั้น ไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันของรัฐบาลได้ เงื่อนไขอื่นๆ เช่น เกรดเฉลี่ย และคะแนน TOEFL แตกต่างออกไปตามสถาบัน
- วิทยาลัย วิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.0 ขึ้นไป และคะแนน TOEFL 480-500 ขึ้นไป
- มหาวิทยาลัยสำหรับปริญญาตรี สถาบันส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไปและ TOEFL 500 ขึ้นไป
- มหาวิทยาลัยสำหรับปริญญาโทและเอกเกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไปและ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 นักศึกษาที่จะสมัครในโปรแกรม MBA ส่วนใหญ่จะต้องใช้คะแนน GMAT ซึ่งจะนำมาคำนวณกับเกรดเฉลี่ยปริญญาตรี ส่วนนักศึกษาที่สมัครปริญญาโทและเอกในสาขาอื่นๆ ส่วนใหญ่จะต้องสอบ GRE
ปีการศึกษา
ปีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา (Academic Year) จะเริ่มประมาณเดือนกันยายนถึงพฤษภาคม ซึ่งมีกำหนดเภาครียน แตกต่างกันออกไปดังนี้
ระบบ Semester เป็นระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ในระยะเวลาหนึ่งปีจะประกอบด้วย 2 Semesters และ 1-2 Summer Sessions แต่ละ Semester ยาวประมาณ 16 สัปดาห์ ดังนี้
- Fall Semester ประมาณปลายสิงหาคม - กลางธันวาคม
- Spring Semester ประมาณต้นมกราคม - เมษายน
- Summer Session ประมาณกลางพฤษภาคม - สิงหาคม
ระบบ Quarter ในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 4 Quarter แต่ละ Quarter ใช้เวลาเรียนประมาณ 10 สัปดาห์ดังนี้
- Fall Quarter ประมาณกลางกันยายน - ธันวาคม
- Winter Quarter ประมาณมกราคม - กลางมีนาคม
- Spring Quarter ประมาณต้นเมษายน - กลางมิถุนายน
- Summer Quarter ประมาณกลางมิถุนายน - สิงหาคม
ระบบ Trimester ใน 1 ปี แบ่งภาคการศึกษาดังนี้
- First Semester ประมาณกันยายน - ธันวาคม
- Second Semester ประมาณมกราคม - เมษายน
- Third Semester ประมาณพฤษภาคม - สิงหาคม
ระบบ 4-1-4 เป็นระบบใหม่ที่ใช้ในสถานศึกษาราว 8% ในสหรัฐอเมริกาแบ่งปีการศึกษาออกเป็น 2 ภาคใหญ่ คั่นด้วยภาคเรียนสั้นๆ ที่เรียกว่า Interim เพื่อให้นักศึกษาไปทำการค้นคว้าด้วยตนเองหรือออก Field Trip แบ่งภาคเรียนดังนี้
- Fall Semester ประมาณปลายสิงหาคม - ธันวาคม
- Interim ประมาณเดือนมกราคม (1 เดือน)
- Spring Semester ประมาณกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม
การสมัครสถานศึกษา
นักศึกษาที่ต้องการไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกา ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 1 ปี เนื่องจากากรติดต่อสถานศึกษา การสอบต่างๆ การส่งเอกสาร และการพิจารณาใบสมัครต้องใช้เวลามาก การติดต่อสถานศึกษานั้น ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้เอง โดยขอใบสมัครไปที Office of Admission ของมหาวิทยาลัย พร้อมระบุว่าต้องการสมัครสาขาใด ถ้าเป็นการสมัครระดับปริญญาโท หรือเอกต้องเขียนขอใบสมัครไปที่ Graduate School Admission Office หรือ Chairman ของคณะหรือแผนกที่ต้องการเรียนหรือนักศึกษาสามารถสมัครผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตโดยต้องกรอกข้อความให้ครบถ้วน และดำเนินการทุกขั้นตอนตามที่สถานศึกษากำหนด ใบสมัครจะไม่ได้รับการพิจารณาหากทางสถาบันไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร
หลังจากที่ส่งจดหมายหรือแบบฟอร์มขอใบสมัครไปยังสถานศึกษาประมาณ 3-6 สัปดาห์ นักศึกษาควรจะได้รับการติดต่อกลับมาจากสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งรายละเอียด และใบสมัครหรือใบสมัครขั้นต้น (Preliminary Form) มาให้ผู้สมัครต้องอ่านรายละเอียดที่ส่งมา และปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเอกสารที่สถานศึกษาต้องการให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัครหรือนักศึกษาอาจติดต่อตัวแทนสถาบันแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการสมัคร
เอกสารที่ใช้ในการสมัครสถานศึกษา
- แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกเรียนร้อยแล้ว
- ค่าธรรมเนียมการสมัคร (Application Fee) แล้วแต่สถานศึกษากำหนด ซึ่งค่าสมัครนี้จะไม่มีการคืน ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับนักศึกษาก็ตาม
- ใบแสดงผลการเรียน (Transcript) ฉบับจริง
- ผลสอบ TOEFL, GRE หรือ GMAT สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอก ตามที่สถานศึกษานั้นๆ ต้องการ ผลสอบเหล่านี้ต้องขอให้ศูนย์สอบ เช่น Education Testing Service (ETS) ส่งผลไปยังสถานศึกษาโดยตรง (รายงานผลสอบที่ส่งจากศูนย์สอบไปยังสถานศึกษานี้ เรียกว่า Official Score Report)
- จดหมายรับรองฐานะการเงิน (Financial Statement) ของผู้ปกครอง จากสถาบันการเงินที่ผู้ปกครองเป็นลูกค้าอยู่ ในกรณีที่เป็นนักเรียนทุนควรมีจดหมายรับรองการรับทุนแนบไปด้วย
- จดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) 2-3 ฉบับ จากอาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชา
- เรียงความประวัติส่วนตัวและจุดประสงค์ในการศึกษาต่อ หรืออาจจะเป็นหัวข้ออื่นๆ แล้วแต่สถานศึกษาจะกำหนด ประมาณ 300-500 คำ
เอกสารเหล่านี้ต้องส่งทางไปรษณีย์อากาศให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัคร สถานศึกษาจะพิจารณาจากหลักฐานที่ส่งไปหากพอใจก็จะส่งจดหมายตอบรับเข้าเรียน หลายแห่งจะให้นักศึกษาตอบยืนยันการตัดสินใจอีกครั้งว่าจะไปเรียน ณ สถานศึกษาที่ตอบรับมานี้แน่นอนแล้ว จึงจะส่งใบตอบรับอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า I-20 Form มาให้เพื่อให้นักศึกษานำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอวีซ่านักเรียน สถานศึกษาหลายแห่งอาจแนบรายละเอียดการลงทะเบียนเรียนมาด้วย
|