การเตรียมตัวสำหรับผู้ที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ทุกวันนี้ ความนิยมในการไปศึกษาต่อต่างประเทศยังคงมีอยู่ และยังเป็นเป้าหมายสำคัญในการศึกษาเพื่อนำความรู้มาประกอบอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ดี รวมทั้งตลาดงานในประเทศไทยยังต้องการผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับใช้งานได้ดี แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาต่อต่างประเทศสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นก่อนตัดสินใจไปศึกษาต่อ ณ ประเทใด ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่มีผลต่อชีวิตการงานในอนาคตเป็นอย่างยิ่งนั้น ควรได้พิจารณาถึงความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างระเอียดรอบคอบและถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ความพร้อมด้านการศึกษา

การสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อในต่างประเทศ นักศึกษาต่างชาติควรมีผลการเรียนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง หรือปานกลาง สถาบันการศึกษาทุกระดับยกเว้นหลักสูตรภาษาอังกฤษนั้น จะพิจารณารับนักศึกษา โดยดูจากผลการเรียนที่ผ่านมาของนักศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับหลักสูตรปริญญาตรี นักศึกษาควรมีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 2.00 และสำหรับระดับปริญญาโท นักศึกษาควรมีผลการเรียนในระดับปริญญาตรีโดยเฉลี่ยประมาณ 2.50 - 3.00

ความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ

เนื่องจากภาษาที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนของในต่างประเทศคือ ภาษาอังกฤษ การที่นักศึกษาจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น สถาบันการศึกษาทุกระดับ จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับความสามารถทางภาษาของผู้สมัคร ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณาจากผล TOFEL หรือ IELTS นักศึกษาที่ตั้งใจไปศึกษาต่อในต่างประเทศจึงต้องมีความพร้อมในเรื่องของภาษา แนวความคิดที่ว่าอยู่ ๆ ไปก็จะใช้ได้เองนั้น คงจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากรูปแบบของภาษาอังกฤษที่ใช้ในการศึกษาหรือที่เราเรียกกันว่าภาษาอังกฤษเชิงวิชาการนั้น จะมีความแตกต่างจากรูปแบบของภาษาอังกฤษที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

ส่วนทางเลือกในการเตรียมตัว ด้านภาษานั้น ก็คงมีเพียงแค่ 2 ทางคือ การเรียนเพิ่มเติมในประเทศไทย หรือการไปเรียนในหลักสูตรภาษาของสถาบันสอนภาษาในต่างประเทศ การเรียนเพิ่มเติมในประเทศไทย มีข้อดี คือ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากอัตราค่าเล่าเรียนของบ้านเราจะไม่แพงมากนัก นอกจากนี้ ถ้านักศึกษาทำงานอยู่ด้วยกันแล้ว การเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมในประเทศไทย จะไม่ทำให้เราเสียเวลาในเรื่องของประสบการณ์ในการทำงาน อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าพัฒนาการด้านภาษาจะช้ากว่าการไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ไม่ได้บีบบังคับให้เราต้องใช้ภาษาอังกฤษ

ดังนั้นสำหรับ ผู้ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา อาจพิจารณาว่าการไปเรียนในต่างประเทศนั้นเหมาะสมกว่า การเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษในต่างประเทศมีข้อดี คือ โดยทั่วไปพัฒนาการทางด้านภาษาจะรวดเร็วกว่า เนื่องจากนักศึกษาต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ โดยการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ รวมทั้งเอกสาร การเรียนและวิธีการเรียนการสอนในต่างประเทศย่อมมีความหลากหลายมากกว่า อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักสูตรด้านภาษาในต่างประเทศจะค่อนข้างสูง

ความพร้อมด้านทุนทรัพย์

ค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาต่อต่างประเทศจะค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในประเทศไทย การพิจารณาว่าจะไปศึกษาต่อในต่างประเทศหรือไม่นั้น ควรพิจารณาให้รอบคอบและคำนึงถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะต้องใช้ตลอดช่วงการศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงปีแรก นอกจากนั้นแนวคิดที่จะ "ไปตายเอาดาบหน้า" ก็คงจะไม่เหมาะสมนัก เพราะบางประเทศอาจจะไม่อนุญาตให้นักศึกษาทำงานได้ หรือบางประเทศอาจอนุญาตให้นักศึกษาทำงานได้เฉพาะงานภายในมหาวิทยาลัย แต่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย รวมถึงการขออนุญาตกองตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะอนุญาตหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกองตรวจคนเข้าเมือง ดังนั้นก่อนการตัดสินใจว่าจะไปศึกษาต่อหรือไม่นั้นควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเรามีทุนทรัพย์เพียงพอต่อการศึกษาหรือไม่ ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเห็นคือนักศึกษาอาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาให้สำเร็จนานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นรวมถึงปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ประเมินไว้ก็เป็นได้

ความพร้อมด้านสุขภาพ

การที่นักศึกษาประสบความสำเร็จในการศึกษาหรือไม่นั้น ปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดปัจจัยหนึ่งคือ การมีสุขภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ นักศึกษาควรพิจารณาและหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปศึกษาต่อให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งในเรื่องภูมิอากาศและภูมิประเทศ ซึ่งจะแตกต่างไปจากสภาพของประเทศไทย สำหรับนักศึกษาที่มีโรคประจำตัวหรือจำเป็นต้องอยู่ใกล้หมอประจำตัว ควรพิจารณาให้รอบคอบว่าเราพร้อมที่จะไปใช้ชีวิตในประเทศอื่นหรือยัง นอกจากนี้การไปพักอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม ทั้งวัฒนธรรม ภาษา อาหาร และการใช้ชีวิตที่ต้องห่างจากครอบครัว อาจทำให้เกิดความเหงา เบื่อหน่าย ท้อแท้ อันจะนำไปสู่ความเครียด ซึ่งอาจทำให้เป็นผลเสียต่อการศึกษาได้

ความพร้อมด้านจิตใจ

เราเคยถามตัวเองบ้างหรือเปล่าว่า เราพร้อมที่จะไปศึกษาต่อหรือยัง เหตุผลที่ไปศึกษาต่อครั้งนี้คืออะไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีนักศึกษาไทยจำนวนมากที่ไปศึกษาอยู่ในต่างประเทศ โดยที่ยังไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนเองพร้อมแล้ว มีนักศึกษาจำนวนมากที่ไปศึกษาอยู่ต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าคนรอบข้างต้องการให้ไปหรือต้องการตามเพื่อนไปเท่านั้น จากความจริงที่เรามักมีความยินดีที่จะทำในสิ่งต่างๆ และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเราเองมากกว่าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นเป็นคนตัดสินใจให้ ถึงแม้ว่าจะประสบกับปัญหาใดๆ ก็ตาม เราก็จะมีความอดทนและเพียร พยายามที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จากสิ่งที่เราเป็นคนตัดสินใจทำเองมากกว่า ดังนั้นเราต้องถามตัวเองด้วยว่าเราพร้อมที่จะไปศึกษาต่อหรือยังและพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังมากน้อยแค่ไหน

แนวทางสำหรับผู้ที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ

ประมาณสองปีก่อนวางแผนเดินทางไปต่างประเทศ
  • ตัดสินใจว่าจะมุ่งเน้นศึกษาต่อในวิชาใดหรือด้านใด ขณะที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือปีสุดท้ายของปริญญาตรี
  • ศึกษาว่าในการสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรที่ต้องการนั้น จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติทางการศึกษาโดยทั่วไปอย่างไรบ้าง
  • ศึกษาเพิ่มเติมในวิชาพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นสำหรับการเข้าศึกษาในหลักสูตรที่เลือก
ประมาณหนึ่งปีก่อนเดินทางไปต่างประเทศ
  • ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรต่างๆ โดยทางอินเตอร์เน็ท ไปที่สถานฑูตขอคำแนะนำปรึกษาจากอาจารย์แนะแนว และไปหาข้อมูลจากศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของประเทศที่ต้องการไปศึกษา เป็นต้น
  • เปรียบเทียบ ข้อดี - ข้อด้อย ของหลักสูตรต่างๆ ในแต่ละประเทศ
  • ติดต่อสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมและได้พิจารณาเลือกสรรแล้ว เพื่อขอรายละเอียดและใบสมัคร
  • กรอกใบสมัครของสถาบันการศึกษาที่ต้องการสมัคร ถ่ายสำเนาใบสมัครไว้เป็นหลักฐาน ส่งใบสมัครพร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นทั้งหมด สำเนาประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร ฯลฯ รวมทั้งหนังสือรับรองที่จำเป็นด้วย
  • หากไม่ได้รับการติดต่อกลับมาภายใน 1 เดือน ให้ส่งจดหมายติดตามสอบถามได้
  • ดำเนินการขอหนังสือเดินทางหากยังไม่มี ตรวจสอบหนังสือเดินทางว่ามีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือนหลังกำหนดวันเดินทาง
  • ตรวจสอบเอกสารที่จำเป็นทางด้านการเงิน ด้านสุขภาพ และประเภทของวีซ่าที่แต่ละสถาบันการศึกษาและแต่ละประเทศกำหนด จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นให้พร้อม (อาจต้องฉีดวัคซีนด้วย)
  • เข้าทดสอบเพิ่มเติมตามความจำเป็น เช่น ทดสอบความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้นว่า IELTS หรือ TOEFL โดยต้องเผื่อเวลาในการได้รับผลการสอบก่อนถึงกำหนดที่จะต้องส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ ที่เลือกไว้ และถ่ายสำเนาผลการสอบไว้ด้วย
  • ส่งสำเนาเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดไปยังมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาโดยเผื่อเวลาในการส่งไปยังต่างประเทศด้วย เพื่อว่าจะได้รับเอกสารก่อนวันปิดรับที่กำหนดไว้ เอกสารเหล่านี้จะช่วยในการตอบรับให้เข้าศึกษาในหลักสูตรที่ต้องการ
ประมาณสองเดือนก่อนจะเริ่มเปิดภาคเรียน
  • เมื่อได้รับใบตอบรับจากสถานศึกษาแล้ว ให้ขอวีซ่านักเรียนจากสถานฑูตโดยโทรศัพท์ไปถามก่อน เพื่อจัดเตรียมและนำเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการขอวีซ่าไปให้พร้อม
  • ศึกษาทางเลือกในการพักอาศัยและติดต่อจองที่พักที่เหมาะสม
  • เตรียมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าที่พักอาศัย ฯลฯ
  • จองตั๋วเครื่องบิน
  • ทำประกันการเดินทางและประกันสุขภาพ
  • จัดส่งสิ่งของที่เป็นชิ้นใหญ่ และหนักไปยังที่พักล่วงหน้า โดยทางเรือเพื่อให้ไปถึงในเวลาใกล้เคียงกับที่คุณเดินทางถึง

 



Education Abroad Co., Ltd.
KU Mini Shop (บริเวณโรงอาหารกลาง 1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ (081) 836-4042 (02) 940-6961 แฟกซ์ (02) 940-6961 E-mail : info@e-abroad.com