การไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่การไปอยู่ต่างประเทศ นอกจากต้องปรับตัวด้านภาษาแล้ว เรายังต้องปรับตัวด้านชีวิตความเป็นอยู่ค่านิยม ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เราไม่ควรมองข้าม แต่ควรมองอย่างเข้าใจ การปรับตัวให้มีความสุข คาดหวังว่า ความรู้สึกสับสน คิดถึงบ้าน อารมณ์อ่อนไหว ท้อแท้ โดดเดี่ยว ว้าเหว่ จะต้องเกิดขึ้น ในระยะ 2 เดือนแรก ให้เข้าใจว่าอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา อย่าด่วนตัดสินใจกลับบ้านหรือเลิกเรียนหนังสือ
เมื่อผิดหวังหรือไม่สบอารมณ์เรื่องใด ถามตัวเองว่าเราคาดหวังเกินความจริงหรือเปล่า เช่นคิดว่า เจ้าของบ้านที่เราอยู่ด้วยต้องดูแลเราเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ดูแลเราหรือเปล่า เวลามีปัญหาเราต้องการให้คนอื่นมาถามเราก่อนหรือเปล่า ถ้าเราคาดหวังในสิ่งที่เกินความจริง ก็ต้องลดความคาดหวังลง ศึกษาและทำความเข้าใจความคิดของคนรอบข้าง บางทีเราอาจจะเรียนรู้ว่าเพื่อนต่างชาติเราแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมหรือดูถูกในสายตาเรา อย่าด่วนสรุปว่าเขามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพราะอาจเป็นเรื่องปกติในสังคมของเขา ฝึกให้ตนเองเป็นคนเปิดเผย ไม่คิดเล็กคิดน้อย รับฟังและยอมรับความแตกต่างไม่อคติ
ถามเมื่อไม่เข้าใจ อย่าตีเอาความเองโดยที่ไม่เข้าใจคำถาม ทำตัวให้ร่าเริง ไม่ถือสา มีอารมณ์ขัน คงมีบ่อยครั้งที่เราพูดผิดหรือคนอื่นพูดผิดโดยไม่ตั้งใจ ถ้าเราเป็นคนไม่ถือสา ไม่ถือเรื่องนั้นเป็นเรื่องซีเรียส และหัดมองอย่างติดตลก ก็จะทำให้อารมณ์ดี ชีวิตมีความสุขมากขึ้น เวลามีปัญหาอย่าเก็บไว้คนเดียว หาคนพูดคุยหรือปรึกษา อาจเป็นเพื่อนในห้อง อาจารย์ที่โรงเรียน หรือคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องที่พัก อาจปรึกษาขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ทำหน้าที่ด้านที่พัก
การปรับตัวด้านการเรียนในมหาวิทยาลัย
ปัจจัยที่เราต้องปรับตัวให้ได้ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตการเรียนต่อในต่างประเทศ เห็นจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้วัฒนธรรม การเรียนใหม่ ซึ่งหมายถึงเราต้องเข้าใจถึงความแตกต่างทางด้านปรัชญาการเรียนระหว่างตะวันตกและตะวันออก ที่สะท้อนออกมาในระบบการเรียน การสอนที่แตกต่างกัน และแน่นอน ความมุ่งหวังต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็แตกต่างกันด้วย ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จด้านการเรียนจากแนวคิดตะวันออก อาจจะกลายเป็นผู้ล้มเหลวเมื่อเข้าไปอยู่ในระบบการเรียนของตะวันตกก็เป็นได้ เมื่อพูดถึงความแตกต่างด้านระบบการเรียนการสอนสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนอื่น คือ ความแตกต่างทางด้าน วัฒนธรรม การเรียน ทั้งเนื้อหาและวิธีการ
ในระบบการเรียนการสอนของไทย "ครู" หรือ "อาจารย์" เป็น "ผู้ให้" นักเรียนเป็น "ผู้รับ" "เรียน" และ "รับ" ถือเป็นหน้าที่ของครู อาจารย์ที่ต้องเป็นผู้กำหนดว่า นักเรียนควรจะเรียนอะไร แม้ว่าในปัจจุบันนักเรียนไทยจะกล้าคิดกล้าพูดมากขึ้น แต่การถามและการโต้แย้งความคิดเห็นหรือคำสอนของครูยังถือเป็นสิ่งไม่ควรกระทำการซักถามและการโต้แย้งในห้องเรียนบางครั้งกลับถูกมองว่าเป็นการอวดรู้หรือต้องการ Show off ของนักเรียนผู้นั้น เพื่อการปรับตัวที่ดี เราควรเรียนรู้ระบบการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของประเทศตะวันตกซึ่งมีลักษณะเด่น ๆ ดังนี้
เรียนอย่างอิสระและพึ่งตนเองได้
ในฐานะที่เป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา นักศึกษาถูกคาดหวังให้รู้จักใช้ชีวิตการเรียนอย่างเป็นผู้ใหญ่ คือ เป็นอิสระสามารถตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ เอง เช่น เลือกวิชาในความสนใจได้เองรับผิดชอบการเรียนของตนเอง จะไม่มีการเช็คชื่อหรือการทวงการบ้าน นักศึกษาต้องรับผิดชอบในการเข้าเรียนและส่งงานเอง นอกจากนี้ นักศึกษายังต้องรู้จักค้นคว้าได้ด้วยตนเอง รู้จักวางแผนเวลา กำหนดกิจกรรมส่วนตัวและกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสม
มีวิพากษ์ทัศนะ (Critic Thinking)
ในระบบการเรียนใหม่นี้ นักศึกษาต้องเป็นผู้กล้าคิด กล้าถาม กล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับอาจารย์ผู้สอน มีความคิดเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และมี Critical Thinking หรือ วิพากษ์ทัศนะ เป็นอาวุธในการเรียน วิพากษ์ทัศนะนี้คือ การมองหรือการประเมินคุณค่าสิ่งที่เรากำลังศึกษาอยู่โดยผ่านกระบวนการการตั้งคำถามและการวิเคราะห์แยกแยะและสามารถหาข้อสนับสนุนที่เป็นเหตุเป็นผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ประกอบการประเมินคุณค่าเพื่อให้เข้าใจลักษณะการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ทางเคมี เปรียบเทียบให้เห็น เมื่อนักเคมีจะต้องการวิเคราะห์สสารตัวหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก เขาก็จะทำการวิเคราะห์โดยศึกษาถึง คุณสมบัติ และองค์ประกอบของสสารโดยการแยกย่อยให้เป็นองค์ประกอบทางเคมีที่เล็กที่สุด และดูว่าองค์ประกอบของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มีความแตกต่างและมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในขบวนการวิเคราะห์
นักวิเคราะห์จะต้องรู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ โดยทั่วไป คำถามมี 2 ลักษณะ คือ คำถามเพื่อหาข้อเท็จจริง (Clarifying the facts) และคำถามเพื่อประเมินคุณค่าหรือตีข้อความ เท็จ จริงที่มีอยู่ (making judgements) ตัวอย่างคำถามในลักษณะแรกของวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นได้ อย่างไร ลำดับเหตุการณ์ของสงครามโลกเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์การรบของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างไร เป็นต้น
ส่วนคำถามเพื่อประเมินคุณค่าหรือตีค่าเป็นข้อความน่าเชื่อถือ (Ralidity) ของเหตุผลสนับสนุน จุดด้อย จุดแข็ง และความสำคัญของสิ่งที่เรากำลังศึกษารวมทั้งความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ตัวอย่างคำถามเช่น สงครามโลกครั้งที่สองมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์โลกอย่างไร และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในโลกอย่างไร ทฤษฏีที่อธิบายถึงสาเหตุของสงคราม โลกครั้งที่สอง แต่ละทฤษฎีตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดอะไร และมีจุดด้อยจุดแข็งอย่างไร คำถามทั้งสองลักษณะ มีคุณค่าและให้ประโยชน์ แตกต่างกัน เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักใช้คำถามทั้งสองลักษณะวิเคราะห์ให้ตรงกับเป้าหมาย
การเริ่มต้นฝึกหัดให้มีวิพากษ์ทัศนะที่ดีและได้ผลที่สุด คือการฝึกหัดตั้งคำถาม เมื่อนักศึกษาได้รับมอบหมายให้อ่านหนังสือเพิ่มเติม การอ่านเพียงอย่างเดียวนั้น จะไม่ทำให้เราได้รับอะไรขึ้นมาเลย การอ่านที่ดีที่สุดคือ การอ่านอย่างมีเป้าหมาย ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราอ่านตลอดเวลา เราต้องรู้ว่าเราอ่านเพื่อต้องการคำตอบหรือข้อสนับสนุน ข้อโต้แย้ง สมมติฐานอะไร หัดวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราอ่าน เมื่ออ่านจบสรุปให้ได้ว่า เราได้อะไรจากการอ่านครั้งนี้เป็นภาษาของเราเอง Critical Thinking นี้มีบทบาทสำคัญมากต่อกิจกรรมการ เรียนทุกอย่าง การอ่าน การเขียนรายงาน การเข้าร่วมอภิปราย การตัดสินคุณภาพงานของนักศึกษาก็ตัดสนใจจากระดับ Critical Thinking ของนักศึกษาว่ามีมากน้อยแค่ไหน
|